สมัยเด็กๆผมเป็นคนที่ชอบการฟังเพลง และผมก็พยายามร้องเลียนแบบเสียงเมโลดี้ให้ตรงกับศิลปินท่านนั้น ซึ่งในเวลานั้นผมเล่นเครื่องดนตรีไม่เป็นสักกะอย่างเดียว แต่ก็สามารถร้องให้ตรงได้ (แต่เสียงร้องของผมน่ารำคาญมาก โดยไล่ออกไปร้องนอกบ้านหรือในห้องน้ำเป็นประจำ ฮ่าๆๆ) ต่อมาพอได้เริ่มหัดเล่นเปียโน ก็มาลองหาเล่นพวกคอร์ดและแกะเมโลดี้เลียนแบบเสียงร้องด้วย ก็อาศัยหาซื้อหนังสือเพลง หนังสือคอร์ด และโน๊ตเพลงมาหัด ตอนแรกๆแกะมาก็มั่วๆบ้าง ตรงบ้าง ลองผิดลองถูกกันไป จนสามารถแกะเพลงได้ระดับนึงแต่ก็ยังเพี้ยนๆอยู่
ตัวอย่าง Guitar TAB
พอได้ประสบการณ์จากการเล่นตาม TAB และเอาสิ่งนี้มาเป็นประโยชน์ในการค้นหาตำแหน่งการเล่นกีตาร์ที่ถูกต้อง ผมก็เลยจำเป็นต้องฝึกเทคนิคต่างๆเพิ่มเติม เช่น การไล่สเกล การเล่น arpeggio การเล่นแบบ voicing และอื่นๆ ที่พอเป็นไอเดียในการจับจุดตำแหน่งการเล่นกีตาร์ที่ทำให้เราเล่นได้ลื่นไหลมากที่สุด
แต่พอเราเข้าใจตำแหน่งการเล่นที่ดีแล้ว อีกสิ่งที่เราต้องฝึกก็คือ การฝึกหู นั่นเอง หรือ เรียกว่า Ear training ถ้าเราไม่ทราบว่า สิ่งที่เราฟังคืออะไร แล้วเราจะเล่นสิ่งนั้นออกไปได้ยังไงใช่มั้ยครับ ดังนั้น เราเองก็ต้องฝึกหู ฝึกฟังครับ วิธีการที่สามารถฝึกได้ด้วยตัวเองง่ายๆก็คือ ใช้กีตาร์เรานี่แหละ กับ ปากของเราครับ

ตัวอย่างแบบเรียนการฝึกหู (photo by Music Institute)
ขั้นแรก เราจะลองดีดกีตาร์ออกมาซักเสียงนึง ยกตัวอย่าง สายเปล่าสายที่ 1 หรือ เสียง E พอดีดแล้ว เราลองร้องหรือฮัมเสียงโน๊ตนั้นด้วยปากของตัวเอง ให้ตรงกับเสียงของกีตาร์ให้ได้ ถ้าเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่า มันตรงกันหรือเปล่า เราก็จะแกะเพลงต่อไม่ได้นะครับ ต้องรู้ครับ ว่าเราร้องตรงเสียงหรือเปล่า ถ้ามีครูฝึกสอนจะเป็นเร็วขึ้น เพราะจะมีคนบอกให้ว่า เสียงที่เราร้องออกไปเนี่ย เพี้ยนสูง เพี้ยนต่ำ หรือว่า ตรงกับเสียงจริงแล้วจะแนะนำได้ถูก
ขั้นที่สอง ลองดีดแบบไล่สเกลดู แล้วร้องเสียงให้ตรงกับสิ่งที่เราเล่น หลังจากนั้นก็ฝึกการเล่นเทคนิคต่างๆ เช่น Arpeggio, Bending แล้วลองไล่และลองเลียนเสียงดู
ขั้นที่สาม พอเรารู้สึกว่าเราทำได้ละ ร้องได้ตรงแล้วล่ะ ทีนี้เรามาลองทำในทางกลับกัน หรือเรียกว่า Inversion Process คือเราจะร้องก่อนแล้วเล่นตาม เราก็ร้องเสียงอะไรมาก็ได้ แล้วลองหาเสียงในกีตาร์ที่ตรงกับเสียงร้อง ในขั้นนี้จะยากนิดนึง แต่ถ้าทำได้ก็จะแกะเพลงได้นะครับ ทีนี้เราก็ร้องเป็นชุดเมโลดี้ หรืออะไรก็ได้แล้วลองไล่ด้วยกีตาร์ดู ถ้าทำได้ก็สามารถ Improvise ได้อีกต่างหาก
ขั้นที่สี่ ทีนี้ลองทำแบบไปกลับเลย มาแกะเพลงกันจริงๆ คือฟังเสียงโน๊ตที่เราต้องการจะแกะเสียงออกมาลงในกีตาร์ของเรา พอฟังแล้ว ให้ร้องหรือฮัมตามด้วยปากให้ตรงกับโน๊ตที่เราจะแกะ พอจำได้ก็ร้องซ้ำ แล้วก็หาโน๊ตที่ตรงกับเสียงร้องของเราลงไปเล่นบนกีตาร์ ถ้าทำขั้นนี้คล่องๆแล้ว เราก็จะ short-cut หรือ ลัด โดยไม่ต้องร้องเสียงที่ว่านั้นแล้ว ก็สามารถฟังแล้วเล่นบนกีตาร์ได้เลย
ตัวอย่างของ Relative Pitch (photo by perfectpitch.com)
1. Perfect Pitch คือการฟังโน๊ตออกเป็นโน๊ตๆนั้นเลย เช่นฟัง C ก็รู้ว่าเป็น C เป็นต้น
2. Relative Pitch คือการฟังโน๊ตสองตัว แล้วรู้ว่า 2 ตัวนั้นมีความสัมพันธ์ในขึ้นคู่อะไร เช่นฟัง C G แล้วรู้ว่า เป็น ขั้นคู่ Perfect Fifth ซึ่งจะมีประโยชน์มากๆในการแกะคอร์ดและเสียงประสาน
หลังจากที่เราฝึกฟังจนพอแกะได้ระดับนึง ถ้าโน๊ตมันเร็วมากๆจะทำยังไง ที่ผมใข้มีอยู่ 2 วิธี (ไม่พูดถึงการใช้ TAB ครับ)
1. Analogy with Trial and Error คือการเล่นทับแบบลองผิดลองถูกจากเทคนิคต่างๆที่เราเคยเล่น อย่างเช่นเราฟัง โน๊ตเร็วชุดนี้มันเหมือน sweep picking เราก็เล่น sweep picking หรือ เหมือน Pattern อื่นๆที่เราเคยเล่นตามในรูปแบบต่างๆที่เราเคยฝึก และฟังแล้วโน๊ตใกล้เคียงกัน ก็เล่นทับไปค้นหาไปจนกว่าจะตรง ดังนั้นวิธีนี้เราต้องมีประสบการณ์และการฝึกฝนเทคนิคกีตาร์ต่างๆจนคล่องพอสมควรแล้วถึงจะเลือกเล่นโน๊ตที่ตำแหน่งต่างๆได้อย่างเหมาะสมครับ
2. Slow Speed Listening คือ การใช้โปรแกรมช่วยลดความเร็วของเพลงลง ในเพลงที่มีการเล่นโน๊ตที่เร็วมากๆ
ตัวอย่าง Plug-in Pacemaker บน Winamp
ในสมัยก่อน เราจะใช้เป็นเครื่องลดความเร็วของเทปคลาสเส็ต ซึ่งวิธีนี้มีข้อเสียคือจะทำให้โน๊ตมันเพี้ยนต่ำลงด้วย ต่อมาเทคโนโลยีเข้าสู่โลกดิจิตอล ทำให้เรามีซอฟแวร์ที่สามารถลดความเร็วของเพลงโดยไม่ทำให้โน๊ตเพี้ยนด้วย โปรแกรมที่ผมแนะนำนะครับ ก็คือ Guitar Rig หรือ Pacemaker ที่ลดความเร็วได้ถึง 50% จะช่วยให้เราฟังได้ละเอียดขึ้นเยอะแต่บางทีโน๊ตมันเร็วมากๆ ถึงแม้จะลดความเร็วแล้วก็ยังเร็วอยู่ ก็ต้องใช้วิธีที่ 1 อีกทีครับ แต่จะง่ายขึ้นเยอะครับ
ส่วนโปรแกรมที่แยกเสียงออกมาเป็นโน๊ตๆเนี่ย ผมก็ไม่เคยเจอในชีวิตนี้ ถ้ามีก็แนะนำผมได้นะครับ จะช่วยผมได้เยอะ (แต่ก็ไม่แนะนำนะครับ ถ้ามี ไม่งั้นเราจะไม่ฝึกหูของตัวเองเลย ^__^)
(Photo by theguitarlesson.com)
เท่านี้เราก็สามารถแกะเพลงเองกันได้แล้ว ผมขอย้ำว่า เราต้องหัดแกะเพลงเองกันบ่อยๆ แล้วเราก็จะสามารถพัฒนาหูกับการแกะเพลงของเราได้ดีขึ้น การแกะเพลงก็เหมือนกับกีตาร์ที่ต้องฝึกซ้อมบ่อยๆหรือทำซ้ำบ่อยๆถึงจะเชี่ยวชาญ ส่วนคนที่เอาแต่อาศัย TAB ก็อย่าพึ่งพาจนเกินไป เพราะเราจะไม่ได้ฝึกการแกะเพลงเลย แต่อยากให้ใช้ TAB กันให้เป็น ในแง่การฝึกฝนเทคนิคการเล่นและจดจำสิ่งที่เห็นใน TAB และในวันหน้าพอเราได้ยินเสียงคล้ายๆแบบนี้ เราก็สามารถเล่นด้วย Pattern ที่เคยเห็นใน TAB โดยไม่ต้องกลับมาดู TAB อีกเลย
ถ้ามีโอกาสได้ศึกษาเพิ่มเติม เราจะสามารถแกะคอร์ดได้ด้วย เหมือนกันครับ เราต้องฝึกการฟังว่า คอร์ดนี้เสียงนี้ เช่น คอร์ด Major, Minor, Diminish, 7b9 เสียงเป็นแบบไหน ถ้าเราจำได้เราก็แกะได้แล้วครับ
สุดท้ายนี้ก็ขอให้ทุกคนสนุกกับการแกะเพลง และสามารถแกะเพลงได้อย่างแม่นยำนะครับ